ข้อควรรู้ก่อนสร้าง
สร้างบ้านด้วยตู้คอนเทนเนอร์ดีอย่างไร?
การสร้างบ้านด้วยตู้คอนเทนเนอร์ เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้มีงบจำกัด และมีใจรักในความแปลกใหม่ แถมยังใส่ไอเดียได้แบบไม่เหมือนใคร ดูดี มีสไตล์ โดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์เก่าที่ใช้สำหรับขนส่งสินค้าทางเรือซึ่งหมดสภาพการใช้งานแล้ว โดยทั่วไปจะมีสภาพการใช้งานประมาณ 5-7 ปี หากนำมาสร้างบ้านและได้รับการบำรุงรักษาเป็นอย่างดีแล้วจะมีอายุการใช้งานที่นานถึงประมาณ 10-20 ปีเลยทีเดียว ขนาดของตู้คอนเทนเนอร์สามารถเลือกตามความต้องการสำหรับพื้นที่การใช้สอยหรือตามงบประมาณ การสร้างบ้านตู้คอนเทนเนอร์ไม่ได้มีข้อจำกัดเพียงการสร้างบ้านเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพียงเท่านั้น แต่สามารถตกแต่งเพิ่มเติมด้วยการใช้วัสดุอื่นๆ สร้างสรรค์เป็นรูปแบบได้ตามใจชอบสำหรับผู้ที่สนใจอยากจะสร้างบ้าน หรือนำเอาตู้คอนเทนเนอร์มาใช้ในลักษณะของสถานประกอบการต่างๆ ไม่ว่าจะใช้ทำเป็นรูปแบบของบ้านพักอาศัย ออฟฟิศสำนักงาน หรือร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านค้า ก็คงมีคำถามที่อยากจะรู้อยู่หลายอย่างไม่ว่าเกี่ยวกับคุณสมบัติของตู้คอนเทนเนอร์ ว่าเราสามารถนำตู้มาใช้โดยมีข้อจำกัดหรือข้อควรระวังมากน้อยแค่ไหน
- ขออนุญาติก่อนสร้าง – อันดับแรกคือ การนำเอาตู้คอนเทนเนอร์หรือตู้ขนส่งสินค้ามาดัดแปลงเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้น ต้องขออนุญาตก่อสร้างทุกครั้ง ต้องขออนุญาตกับกรมโยธาธิการและผังเมืองเสียก่อน
- ประเภทของตู้คอนเทนเนอร์
- เรามาทำความรู้จักกับตู้คอนเทนเนอร์เบื้องต้นกัน โดยแบ่งประเภทตามการใช้งาน
- ตู้แบบ Dry cargoes – ใช้บรรทุกของที่มีการบรรจุหีบห่อแล้วโดยไม่ต้องการรักษาอุณหภูมิแต่อย่างใด
- ตู้แบบ Refrigerator cargoes – ตู้ที่ใช้บรรทุกสินค้าที่ต้องการรักษาอุณหภูมิ
- ตู้แบบ Garment container – เป็นตู้ที่ใช้ขนส่งสินค้าพวกเสื้อผ้า
- ตู้แบบ Open top – เป็นตู้ที่ไม่มีหลังคาส่วนใหญ่จะมีขนาด 40 ฟุต
- ตู้แบบ Flat-rack – เป็นตู้ที่ใช้ขนส่งสินค้าที่มีลักษณะพิเศษ เช่น เครื่องจักร,ประติมากรรม
- ราคาของตู้คอนเทนเนอร์ – ในเรื่องของราคานั้นแตกต่างกันที่คุณภาพและขนาดของตู้ ราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ 50,000-300,000 บาทค่ะ แล้วการเลือกซื้อตู้คอนเทนเนอร์ ควรไปดูด้วยตัวเอง ตรวจสภาพก่อนตัดสินใจนะคะ เพราะบางตู้สภาพดูไม่ดีบุบมาก ต่อให้ตกแต่งอย่างไรก็ไม่ดีขึ้น
- สร้างฐานให้มั่นคง – ตู้คอนเทนเนอร์นั้นมีความแข็งแรงค่อนข้างมาก สามารถตั้งซ้อนกันขึ้นไปได้นับสิบชั้น ภายในตู้จะมีโครงสร้างเพื่อรับน้ำหนักและความแข็งแรงอยู่หลายส่วนด้วยกัน มีลักษณะคล้ายเสาคานของบ้าน โดยมีเสาอยู่ตามมุมตู้และมีเหล็กที่เชื่อมต่อระหว่างเสาคล้ายกับคานในบ้านที่สร้างด้วยปูน ส่วนผนังเหล็กของตู้นอกจากจะช่วยรองรับน้ำหนักแล้ว ยังมีลักษณะหนาพับไปพับมาเป็นลอนตื้นๆ ซึ่งจะช่วยให้ตู้มีความแข็งแรงมาก แต่เราไม่ควรวางตู้บนพื้นดินเลยนะคะ เนื่องจากน้ำหนักของตู้คอนเทนเนอร์นั้นค่อนข้างมาก ดังนั้น หากเราวางบนพื้นดินโดยตรง ก็อาจทำให้ดินที่อยู่ภายใต้ตู้ เกิดอาการทรุดตัวลงได้ ควรใช้เข็มคอนกรีตรองรับเป็นฐานของตัวตู้เสียก่อน
- การระบายความร้อน – ตัวตู้คอนเทนเนอร์นั้นเป็นเหล็กเมื่อเอาไปวางไว้กลางแจ้งจะมีโอกาสที่ดูดกลืนความร้อนมากกว่าวัสดุประเภทอื่น ควรใช้ฉนวนกันความร้อนที่ พื้น ผนัง และเพดานทางด้านในของตัวตู้ ก็จะช่วยดูดความร้อนจากอากาศภายนอกบ้านได้ดีขึ้น ส่วนทางด้านบนของตัวตู้ซึ่งที่ใช้เป็นส่วนของหลังคานั้น อาจมีการทำหลังคาคลุมอีกชั้นหนึ่งเพื่อกันความร้อน ต่อมาคือ การระบายอากาศ การเจาะประตูหน้าต่าง จะต้องมีการเสริมเหล็กกล่องหรือเหล็กรูปตัว H บริเวณของหน้าต่างทั้ง 4 ด้านเพื่อให้เหล็กนั้นรับน้ำหนักแทนผนังที่ถูกเจาะออกไป การเจาะนี้จำเป็นต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญเป็นอย่างสูงนะคะไม่อย่างนั้นอาจทำให้ทรุดได้เลยทีเดียว
- ระวังเรื่องสนิม – ความกังวลของผู้สร้างบ้านด้วยตู้คอนเทนเนอร์อีกอย่างหนึ่งคือ กลัวเป็นสนิม แต่อย่าเพิ่งกลัวไปค่ะเพราะปัจจุบันนี้มีการผลิตน้ำยาหยุดสนิมขึ้นมาเพื่อใช้หยุดสนิมและการแพร่กระจายของสนิมได้อย่างถาวร ใช้น้ำยานี้ทาลงบนสนิมแล้วปล่อยให้แห้งราว 7-8 ชั่วโมง ก็สามารถหยุดการแพร่กระจายของสนิมได้ถึง100% และหากต้องการทาสีทับก็เพียงใช้ผ้าเช็ดคราบน้ำยาให้แห้งแล้วทำสีทับได้ตามใจชอบได้ค่ะ
- การแบ่งพื้นที่ใช้สอย – ส่วนการจัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ภายในตู้อาจใช้ไม้ฝาหรือยิปซั่มกั้นเป็นห้องนั่งเล่น ห้องนอน ห้องน้ำ หรือห้องทำงาน เจาะตู้เพื่อทำหน้าต่าง ประตู หรือติดกระจก ตกแต่งห้องต่างๆ ด้วยเฟอร์นิเจอร์ขนาดกะทัดรัดเพื่อให้ประหยัดพื้นที่ใช้สอย ไม่ทำให้ภายในห้องต่างๆ แคบจนเกินไปโดยอาจใช้เฟอร์นิเจอร์ที่สามารถพับเก็บได้ หรือเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างภายในชิ้นเดียว หรือหากต้องการให้ภายในบ้านดูโปร่ง โล่ง สบายตา อาจเจาะผนังด้านหน้าของตู้คอนเทนเนอร์ตามขนาดที่ต้องการแล้วใส่เป็นกระจกใสบานใหญ่ หรือเป็นประตูกระจกหลายๆ บานเพื่อเปิดรับอากาศภายนอก ทำให้ภายในบ้านไม่อุดอู้ ปลูกต้นไม้บังทิศทางของแสงแดดในตอนกลางวัน เพื่อเพิ่มความร่มรื่นให้กับบ้าน หรือจะเพิ่มดีไซน์ตู้คอนเทนเนอร์ด้วยการทำระแนงไม้เพิ่มเข้ามาเป็นลูกเล่นช่วยให้บ้านมีบรรยากาศใกล้เคียงกับบ้านไม้มากยิ่งขึ้นก็ไม่เลวนะคะ
- ข้อดีของการนำตู้คอนเทนเนอร์มาดัดแปลง – เราสามารถได้บ้านราคาถูกกว่าการลงทุนก่อสร้างด้วยวัสดุชนิดอื่นที่ให้ความแข็งแรงใกล้เคียงกัน แถมยังมีรูปแบบการก่อสร้าง ออกแบบได้หลากหลายและมีความสวยงามตามแต่จะจินตนาการ ปราศจากปัญหาจากแมลงที่คอยกัดกินบ้านอย่างปลวกไปได้เลย บ้านตู้คอนเทนเนอร์สามารถขนย้ายได้ง่าย มีความแข็งแรงทนทานต่อแผ่นดินไหว ไฟไหม้ ส่วนปัญหาน้ำท่วมก็ไม่ต้องกังวลเพราะเราสามารถย้ายบ้านหนีน้ำได้ทั้งหลังเลยค่ะ ด้วยรูปแบบการใช้ตู้คอนเทนเนอร์จะไม่มีวันล้าสมัย เทรนด์นี้จะอยู่ได้ไปอีกนานไม่มีเอาท์แน่นอน และด้วยความที่ใช้เวลาในการก่อสร้างรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องลงฐานรากขนาดใหญ่ เพียงปรับพื้นที่ให้เหมาะสม ทำพื้นให้แข็งแรงเล็กน้อยก็ใช้ได้แล้ว แทบไม่ต้องรอนานเป็นเกือบปีคุณก็จะได้บ้านที่สมบูรณ์แบบสิ่งสำคัญคือ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม การนำตัวตู้ที่ไม่ใช้แล้วมาใช้อีกครั้ง ก็จะทำให้ตัวตู้นั้นไม่หมดประโยชน์อีกต่อไป ทั้งที่ตู้คอนเทนเนอร์เป็นองค์ประกอบหนึ่งของภาคอุตสาหกรรมบั่นทอนธรรมชาติที่เรารู้กันดีแต่เมื่อนำมาประยุกต์เป็นที่พักอาศัยกลับดูเข้ากับธรรมชาติได้อย่างไม่น่าเชื่อ อีกทั้งวัสดุทำด้วยเหล็กแข็งแรงทนทานเหมาะแก่การสร้างที่พักอาศัยเป็นที่สุด